ผู้เขียน หัวข้อ: ตรวจอาการโรคลมชัก (Seizures/Epilepsy)/ลมบ้าหมู (Grand mal)  (อ่าน 196 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 485
  • รับจ้างโพสเว็บ เลื่อนประกาศ โปรโมทเว็บไซต์ติดหน้าแรก
    • ดูรายละเอียด
ตรวจอาการโรคลมชัก (Seizures/Epilepsy)/ลมบ้าหมู (Grand mal)
« เมื่อ: วันที่ 15 มิถุนายน 2024, 21:44:49 น. »
ตรวจอาการโรคลมชัก (Seizures/Epilepsy)/ลมบ้าหมู (Grand mal)

โรคลมชัก เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ผิดปกติของสมอง ทำให้เกิดอาการหมดสติ เคลื่อนไหวผิดปกติ รับสัมผัสความรู้สึกแปลก ๆ หรือมีพฤติกรรมผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างร่วมกัน ซึ่งจะเกิดขึ้นฉับพลัน เป็นอยู่ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็กลับหายเป็นปกติได้เอง แต่มักจะมีอาการกำเริบซ้ำเป็นครั้งคราว แพทย์มักจะวินิจฉัยโรคลมชักต่อเมื่อพบว่ามีอาการกำเริบตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไป การชักเพียงครั้งเดียวอาจเกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และหายขาดตลอดไป แพทย์จะไม่วินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชัก

โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 0.5-1 ของประชากรทั่วไป พบได้ในคนทุกอายุ แต่มักจะพบเป็นครั้งแรกในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และคนอายุมากกว่า 65 ปี

ในปัจจุบันมีการแบ่งโรคลมชักออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ โรคลมชักเฉพาะส่วน (focal seizures) และโรคลมชักทั่วไป (generalized seizures) แต่ละกลุ่มยังแบ่งเป็นชนิดย่อย ๆ ออกไปอีกหลายชนิด

ในที่นี้จะกล่าวอย่างละเอียดเฉพาะ โรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (tonic-clonic seizures หรือ grand mal seizures) ซึ่งอยู่ในกลุ่มโรคลมชักแบบทั่วไป จะมีอาการชักร่วมกับหมดสติ (ตรงกับที่คนไทยเรียกว่า ลมบ้าหมู) โรคลมชักชนิดนี้จัดว่าเป็นชนิดที่พบได้บ่อย มีความรุนแรงและมีอันตรายมากกว่าชนิดอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลายเป็นโรคลมชักต่อเนื่อง (status epilepticus) มีโอกาสเสียชีวิตและพิการค่อนข้างสูง

สาเหตุ

สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) ซึ่งเป็นโรคลมชักแบบทั่วไปชนิดหนึ่ง เกิดจากการปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าอย่างผิดปกติของเซลล์สมองเพียงจุดใดจุดหนึ่งในสมอง และแพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังสมองทั้งสองด้าน กระตุ้นให้เกิดอาการชักทั้งตัวและหมดสติชั่วขณะ

โรคลมชักกว่าร้อยละ 50 จะเกิดขึ้นโดยตรวจไม่พบสาเหตุชัดเจน เรียกว่า โรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic seizures) เชื่อว่ามีความพร่องของสารเคมีบางอย่างในการควบคุมกระแสไฟฟ้าในสมอง โดยที่โครงสร้างของสมองเป็นปกติดี ทำให้การทำหน้าที่ของสมองสูญเสียความสมดุล เกิดอาการลมชักขึ้น โรคลมชักชนิดนี้ส่วนใหญ่มักพบมีอาการครั้งแรกในคนอายุ 5-20 ปี และเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ (มักมีประวัติโรคลมชักในครอบครัว)

ผู้ป่วยโรคลมชักส่วนหนึ่งจะตรวจพบสาเหตุชัดเจน เรียกว่า โรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ (symptomatic seizures) ซึ่งมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี และผู้ที่มีอายุมากกว่า 25 ปีที่เริ่มชักเป็นครั้งแรก มีสาเหตุตามกลุ่มอายุดังนี้

    อาการชักในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาจมีสาเหตุจากไข้ (ดู “โรคชักจากไข้”) โรคติดเชื้อในสมอง ความผิดปกติของสมองแต่กำเนิด สมองได้รับการกระทบกระเทือนระหว่างคลอด หรือมีภาวะบางอย่างที่กระทบต่อสมอง เช่น ภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เป็นต้น
    ในเด็กเล็กที่มีความบกพร่องด้านพัฒนาการ เช่น ออทิสติก (autism spectrum disorder) สมาธิสั้น (ADHD) กลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) สมองพิการ (cerebral palsy ซึ่งเกิดจากสมองขาดออกซิเจนตอนคลอด) มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลมชักมากกว่าปกติ
    ในวัยทำงานหรือวัยกลางคน อาจเกิดจากโรคพิษสุรา ยาเสพติด การใช้ยาเกินขนาด
    ในผู้สูงอายุอาจเกิดจากโรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกสมอง โรคสมองเสื่อม ไตวาย หรือตับวายระยะท้าย ความดันโลหิตสูงชนิดร้ายแรง
    ในคนทุกวัยอาจเกิดจากโรคติดเชื้อ (เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง เอดส์) เนื้องอกสมอง ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เลือดออกในสมอง เป็นฝีหรือพยาธิในสมอง สมองอักเสบจากโรคภูมิต้านตนเอง (autoimmune encephalitis) ภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พิษจากยาเกินขนาด (เช่น ยาชาลิโดเคน ยาแก้ซึมเศร้า ทีโอฟิลลีน เป็นต้น)
    ในหญิงตั้งครรภ์อาจเกิดจากครรภ์เป็นพิษ

อาการ

สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) ผู้ป่วยอยู่ดี ๆ ก็มีอาการหมดสติ เป็นลมล้มพับกับพื้นทันที พร้อมกับมีอาการกล้ามเนื้อเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว ซึ่งจะเป็นอยู่นานไม่กี่วินาทีถึง 20 วินาที ต่อมาก็จะมีอาการชักกระตุกของกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกายเป็นระยะ ๆ และมีอาการตาค้าง ตาเหลือก ในระยะแรกมักจะถี่แล้วค่อย ๆ ลดลงตามลำดับจนกระทั่งหยุดกระตุก ในช่วงนี้จะมีอาการน้ำลายฟูมปาก และอาจมีเลือดออก (จากการกัดริมฝีปากหรือลิ้นตัวเอง) อาจมีอาการปัสสาวะหรืออุจจาระราดร่วมด้วย

อาการชักจะเป็นอยู่นาน 1-3 นาที แล้วฟื้นสติตื่นด้วยความรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย บางรายอาจม่อยหลับไปนานเป็นชั่วโมง ๆ

ผู้ป่วยมักจะจำไม่ได้ว่าตัวเองล้มลง

หลังจากม่อยหลับและตื่นขึ้นมาแล้ว อาจมีอาการปวดศีรษะ มึนงง สับสน อ่อนเปลี้ยเพลียแรง หาวนอน ลืมตัว และอาจทำอะไรที่ตัวเองจำไม่ได้ในภายหลัง

บางรายอาจมีอาการเตือน หรือออรา (aura) นำมาก่อนจะหมดสติ เช่น แขนหรือขาชาหรือกระตุกเพียงข้างหนึ่ง หรืออาจเห็นแสงวาบ ได้กลิ่น รส หรือได้ยินเสียงแปลก ๆ หรือมีความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล เป็นต้น

ผู้ป่วยอาจเกิดอาการชักในเวลากลางวัน หรือหลังเข้านอนตอนกลางคืนก็ได้ บางครั้งเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุกระตุ้น บางครั้งก็พบสาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้ป่วยชัก เช่น การอดนอนหรือนอนไม่พอ หิวข้าวหรือกินข้าวผิดเวลา การกินอาหารมากเกินไป ร่างกายเหนื่อยล้า อารมณ์เครียด การดื่มแอลกอฮอล์ การเสพยา (เช่น แอมเฟตามีน โคเคน) การใช้ยาบางชนิด (เช่น ยาแก้แพ้ลดน้ำมูก-ไดเฟนไฮดรามีน ยาแก้คัดจมูก-สูโดเอฟีดีน ยาแก้ปวด-ทรามาดอล ยาต้านซึมเศร้า เป็นต้น) การมีประจำเดือน การเจ็บป่วย (เช่น ไข้สูง โรคโควิด-19 ไข้หวัด ไซนัสอักเสบ ภาวะขาดน้ำ) การอยู่ในที่ที่มีเสียงอึกทึกหรือมีแสงจ้า หรือแสงวอบแวบ การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การลืมกินยารักษาโรคลมชัก เป็นต้น

ลมบ้าหมู

โดยทั่วไป ผู้ป่วยมักมีอาการชักอยู่เพียง 1-3 นาที ก็จะหยุดชัก และฟื้นสติตื่นขึ้น

บางรายที่มีอาการรุนแรง อาจเป็นโรคลมชักต่อเนื่อง (status epilepticus) ซึ่งเป็นภาวะอันตรายร้ายแรง ผู้ป่วยจะชักต่อเนื่องนานกว่า 5 นาทีขึ้นไป หรือมีอาการชักตั้งแต่ 2 ครั้งขึ้นไปโดยที่ผู้ป่วยไม่มีอาการฟื้นสติในระหว่างช่วงการชักแต่ละครั้ง


โรคลมชักต่อเนื่องมักพบในผู้ป่วยที่เคยกินยารักษาโรคลมชักมาก่อนแล้วขาดยา (หยุดกินยา) ทันที แต่ถ้าพบภาวะนี้ในผู้ที่มีอาการโรคลมชักเป็นครั้งแรก ก็มักจะเป็นโรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ เช่น โรคติดเชื้อของสมอง เนื้องอกสมอง สมองพิการ ตกเลือดในสมอง พิษยาเกินขนาด ภาวะถอนแอลกอฮอล์ในผู้ป่วยที่ติดแอลกอฮอล์ ครรภ์เป็นพิษ เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน

สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว/ลมบ้าหมู อาจมีภาวะแทรกซ้อน ดังนี้

    อาการหมดสติ ล้มฟุบ และชัก อาจทำให้ผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผลตามร่างกาย แผลจากการกัดลิ้นตัวเอง กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ เป็นต้น

ข้อสำคัญคือ อาจทำให้ได้รับอุบัติเหตุขณะขับรถ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ขณะเล่นน้ำหรือว่ายน้ำ ปีนป่ายหรืออยู่ในที่สูง อยู่ใกล้เตาไฟ น้ำร้อนหรือของร้อน ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงถึงตายได้

    อาจทำให้เกิดการสำลักเศษอาหารลงปอด เกิดปอดอักเสบได้
    ผู้ที่มีอาการชักบ่อย อาจทำให้มีอุปสรรคต่อการทำกิจวัตรประจำวัน การเรียนหนังสือ และการทำงานได้
    บางรายพบว่ามีความบกพร่องทางอารมณ์และสติปัญญา เช่น ความจำเสื่อม นอนไม่หลับ มีภาวะวิตกกังวล หรือซึมเศร้า
    ในรายที่เป็นโรคลมชักต่อเนื่อง (status epilepticus) หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ก็อาจทำให้สมองพิการหรือเสียชีวิตได้ ภาวะนี้มีอัตราตายถึงร้อยละ 10-20
    ผู้ที่เป็นโรคลมชักรุนแรงบางรายอาจเกิดภาวะเสียชีวิตกะทันหัน (sudden unexpected death in epilepsy) ขณะมีอาการกำเริบ แม้เกิดอาการขณะอยู่ในที่ที่ปลอดภัย (เช่น บนเตียงนอน) ก็ตาม สันนิษฐานว่าอาจเกิดจากภาวะร้ายแรง เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปอดบวมน้ำ (pulmonary edema) ภาวะขาดอากาศหายใจ (suffocation) การสำลักอาหาร เป็นต้น มักเกิดกับผู้ที่ยังควบคุมอาการชักไม่ได้ผลดีและมีการขาดยารักษา ภาวะนี้พบได้ประมาณ 1 รายต่อผู้ที่เป็นโรคลมชักเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) 1,000 รายต่อปี

การวินิจฉัย

สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมีสิ่งตรวจพบดังนี้

โดยทั่วไปเมื่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลมักจะหยุดชักแล้ว ซึ่งตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ ยกเว้นบาดแผลตามร่างกายหรือลิ้น ในกรณีที่มีการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุแทรกซ้อน

ถ้าพบผู้ป่วยขณะมีอาการ ก็จะพบอาการหมดสติ ชักเกร็ง กระตุก น้ำลายฟูมปาก หน้าเขียว

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรืออีอีจี (electroencephalogram/EEG) ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง (lumbar puncture) เป็นต้น

การรักษาโดยแพทย์

สำหรับโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) แพทย์จะให้การดูแลรักษาดังนี้

1. ในรายที่มีอาการชักติดต่อกันนานเกิน 5 นาที อาจมีแนวโน้มเป็นอาการแสดงของโรคลมชักต่อเนื่อง แพทย์จะให้การปฐมพยาบาล และฉีดยาแก้ชัก (เช่น ไดอะซีแพม, ลอราซีแพม, ฟีโนบาร์บิทาล, เฟนิโทอิน, ไมดาซีแพม) และให้การรักษาแบบประคับประคอง (เช่น ใช้เครื่องช่วยหายใจ ให้ออกซิเจน ให้น้ำเกลือ) ตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาตามสาเหตุ ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ก็จะฉีดกลูโคสขนาด 50% 50-100 มล. เข้าหลอดเลือดดำ

ถ้าหยุดชักแล้ว ให้การรักษาดังข้อ 2

2. ในรายที่ชักเพียงชั่วขณะ หรือหยุดชักจากการดูแลรักษาเบื้องต้น ถ้าเป็นการชักครั้งแรก หรือยังไม่เคยได้รับการตรวจจากแพทย์มาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี หรือคนอายุมากกว่า 25 ปี อาจต้องทำการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง หรืออีอีจี (electroencephalogram/EEG) ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เจาะหลัง (lumbar puncture) เพื่อค้นหาความผิดปกติของสมอง นอกจากนี้หากสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคอื่น ๆ อาจต้องทำการตรวจพิเศษอื่น ๆ (เช่น การตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจระดับน้ำตาลและเกลือแร่ในเลือด การตรวจเลือดทดสอบการทำงานของตับและไต เป็นต้น) แล้วให้การรักษาตามสาเหตุที่พบ

ถ้าตรวจพบว่าเป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ หากเพิ่งเคยชักมาเพียง 1 ครั้ง แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยปฏิบัติตัว หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการ และเฝ้าสังเกตดูอาการต่อไป โดยยังไม่ให้ยารักษา เนื่องเพราะผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจไม่มีอาการชักอีกตลอดไป (โอกาสชักซ้ำพบได้ประมาณร้อยละ 30-60) ซึ่งไม่คุ้มกับผลข้างเคียงจากยา

แพทย์จะพิจารณาให้ยากันชักแก่ผู้ป่วยที่มีอาการกำเริบซ้ำครั้งที่ 2 ยาที่นิยมใช้เป็นพื้นฐาน ได้แก่ ฟีโนบาร์บิทาล และเฟนิโทอิน โดยจะเลือกใช้เพียงชนิดใดชนิดหนึ่งก่อน แพทย์จะค่อย ๆ ปรับขนาดยาที่ใช้ขึ้นทีละน้อยจนสามารถควบคุมอาการได้ ถ้าไม่ได้ผลอาจเปลี่ยนไปใช้ยาพื้นฐานอีกชนิดหนึ่ง

แต่ถ้าได้ลองใช้ยาพื้นฐานในขนาดเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผล อาจต้องเปลี่ยนไปใช้ชนิดอื่น เช่น โซเดียมวาลโพรเอต (sodium valproate) คาร์บามาซีพีน (carbamazepine) โทพิราเมต (topiramate) เป็นต้น

ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดอาการกำเริบด้วยยาเพียงชนิดเดียว มีน้อยรายที่อาจต้องให้ยาควบกันตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป

เมื่อปรับยาจนสามารถควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วยจะต้องกินยาในขนาดนั้นไปเรื่อย ๆ เป็นเวลาหลายปี จนปลอดอาการชักแล้ว 2-3 ปี (สำหรับเด็ก) และ 5 ปี (สำหรับผู้ใหญ่) จึงเริ่มหยุดยา โดยค่อย ๆ ลดลงทีละน้อย ห้ามหยุดยาทันที อาจทำให้เกิดโรคลมชักต่อเนื่องเป็นอันตรายได้

เมื่อลดยาหรือหยุดยาแล้ว กลับมีอาการชักใหม่ (พบได้ประมาณร้อยละ 25 ในเด็ก และร้อยละ 40-50 ในผู้ใหญ่) ก็ควรจะกลับไปใช้ยาตามเดิมอีก บางรายอาจต้องกินยาคุมอาการตลอดไป

3. สำหรับผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลมชักและกินยารักษามาก่อน ถ้าพบว่ามีอาการชักเพราะขาดยาหรือปรับลดยาเอง ก็ให้กลับไปกินยาตามขนาดที่แพทย์สั่งอยู่เดิม แต่ถ้าผู้ป่วยเกิดอาการชักทั้ง ๆ ที่กินยาตามขนาดที่แพทย์สั่งอยู่แล้ว อาจจำเป็นต้องเพิ่มขนาดยา หรือปรับเปลี่ยนยาใหม่ จนกว่าจะควบคุมอาการได้

4. ในรายที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผลหรือทนต่อผลข้างเคียงไม่ได้ แพทย์จะทำการตรวจด้วยวิธีที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อค้นหาตำแหน่งเนื้อสมองที่เป็นจุดกำเนิดการชัก (ปลดปล่อยกระแสไฟฟ้าผิดปกติ) และทำการผ่าตัดสมองจุดนั้นออกไป  ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ หรือไม่ก็อาจช่วยลดความถี่และบรรเทาความรุนแรงของการชัก หลังผ่าตัดแพทย์จะให้ยากันชักคอยควบคุมอาการต่อไป

ในกรณีที่ผู้ป่วยดื้อต่อยาและการผ่าตัดดังกล่าว แพทย์อาจรักษาด้วยวิธีอื่น เช่น

    การใช้เครื่องกระตุ้นประสาทเวกัส (vagus nerve stimulation) เป็นการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาทไว้ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก โดยมีสายไฟต่อกับเส้นประสาทสมองคู่ที่ 10 หรือประสาทเวกัส (Vagus Nerve) ซึ่งอยู่ที่บริเวณคอ เมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังเส้นประสาทเวกัสและสมอง ก็จะช่วยลดความถี่และความรุนแรงของอาการชักลงได้ และลดขนาดยากันชักที่ใช้ลงได้
    การกระตุ้นสมองส่วนลึก (deep brain stimulation/DBS) เป็นการผ่าตัดฝังขั้วไฟฟ้า (electrodes) ไว้ที่บริเวณทาลามัสในสมอง โดยต่อกับอุปกรณ์กระตุ้นไฟฟ้าซึ่งฝังอยู่ใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก หรือกะโหลก เมื่ออุปกรณ์ดังกล่าวปล่อยกระแสไฟฟ้าไปยังสมอง ก็จะช่วยลดอาการชักลงได้

ผลการรักษา ส่วนใหญ่การใช้ยากันชักมักทำให้สามารถควบคุมโรคได้ดี คือ ปลอดอาการชักได้ ซึ่งอาจต้องใช้ยาต่อเนื่องนานเป็นปี ๆ กว่าจะหยุดยาได้ บางรายหลังหยุดยาอาจมีอาการชักกำเริบได้อีก บางรายอาจดื้อต่อยา และจำเป็นต้องให้การรักษาด้วยวิธีอื่น

การดูแลตนเอง

หากมีอาการชัก ควรให้การปฐมพยาบาล และพาผู้ป่วยไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

เมื่อตรวจพบว่าเป็นโรคลมชักหรือลมบ้าหมู ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ติดตามการรักษากับแพทย์ตามนัด
    กินยากันชักทุกวัน ตามขนาดที่แพทย์แนะนำ ควรทำบันทึกการกินยาและการนัดของแพทย์เพื่อกันลืม
    อย่าหยุดยา หรือปรับเปลี่ยนขนาดยา หรือซื้อยากินเอง
    ถ้าลืมกินยาไปเพียงมื้อเดียวหรือวันเดียว ให้เริ่มกินในมื้อต่อไปตามปกติ
    หลีกเลี่ยงการใช้ยาชนิดอื่นร่วมกับยากันชักโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร เพราะยาบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยากันชัก ทำให้อาการชักกำเริบได้ บางชนิดอาจเสริมฤทธิ์ยากันชัก ทำให้เกิดพิษขึ้นได้
    ยากันชักบางชนิดอาจต้านฤทธิ์ยาเม็ดคุมกำเนิด ทำให้คุมกำเนิดไม่ได้ผล บางชนิดอาจมีผลทำให้ทารกในครรภ์พิการหรือแท้งได้ ผู้ป่วยที่กินยาคุมกำเนิดหรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมต่อไป เช่น ในรายที่กินยาโซเดียมวาลโพรเอต หรือคาร์บามาซีพีน แพทย์จะให้ผู้ป่วยกินยาเม็ดกรดโฟลิก (folic acid) ขนาด 1 มก./วัน ตั้งแต่ระยะก่อนตั้งครรภ์และขณะตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดความพิการทางระบบประสาทในทารก (neural tube defect)
    หากตั้งครรภ์ หรือเจ็บป่วยอย่างอื่น ควรแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบ และนำยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
    ในกรณีที่เปลี่ยนสถานที่รักษา ควรนำประวัติและยาที่กินอยู่ไปให้แพทย์ดูด้วย
    หลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการชัก เช่น อย่าอดนอน อย่าอดอาหาร อย่าทำงานเหนื่อยเกินไป ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่กระตุ้นให้เกิดอาการชัก อย่าเข้าไปในที่ที่มีเสียงอึกทึกหรือมีแสงจ้า หรือแสงวอบแวบ หลีกเลี่ยงการกระทบกระเทือนทางจิตใจ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และหาทางผ่อนคลายความเครียด
    หลีกเลี่ยงการกระทำและสิ่งแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เช่น ว่ายน้ำ ปีนขึ้นที่สูง อยู่ใกล้ไฟ ใกล้น้ำ ทำงานกับเครื่องจักร ขับรถ ขับเรือ เดินข้ามถนนตามลำพัง เป็นต้น ถ้าจำเป็นต้องว่ายน้ำ ควรมีคนอื่นอยู่ด้วยตลอดเวลา

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

    มีอาการชักกำเริบ
    ขาดยาที่แพทย์สั่งให้ใช้หรือยาหาย
    มีไข้ หรือมีอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ
    มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา

การปฐมพยาบาลสำหรับโรคลมบ้าหมูหรืออาการชัก

เมื่อพบผู้ป่วยมีอาการชัก ควรให้การปฐมพยาบาลดังนี้

1. ป้องกันอันตราย หรือการบาดเจ็บ โดยให้ผู้ป่วยนอนอยู่ในพื้นที่โล่งและปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางหรือระเกะระกะอยู่ข้างกาย (ถ้ามีข้าวของที่อยู่รอบบริเวณผู้ป่วยควรเคลื่อนย้ายออกไป) ระวังการตกจากที่สูง และให้อยู่ห่างจากน้ำและไฟ

2. ปลดเสื้อผ้า เข็มขัด เครื่องแต่งกาย เน็กไท ผ้าพันคอให้หลวม

3. จับผู้ป่วยนอนในท่าตะแคง เพื่อให้ทางเดินหายใจโล่ง (โดยการผลักลำตัวผู้ป่วย ไม่ใช่การดึงแขนผู้ป่วย อาจทำให้ไหล่หลุดได้) ให้ผู้ป่วยหนุนหมอนหรือผ้าห่ม

4. ถ้ามีเศษอาหาร เสมหะ หรือฟันปลอม ให้นำออกจากปาก ถ้าผู้ป่วยใส่แว่นตาควรถอดออก

5. อย่าใช้วัตถุ (เช่น ไม้ ด้ามช้อน ปากกา ดินสอ) สอดใส่ปากผู้ป่วยเพื่อป้องกันไม่ให้กัดลิ้น เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้ปากและฟันได้รับบาดเจ็บได้

6. อย่าผูกหรือมัดตัวผู้ป่วย อาจทำให้ผู้ป่วยบาดเจ็บได้

7. อย่าปล่อยให้ผู้ป่วยอยู่ตามลำพัง จนกว่าจะหายเป็นปกติ

8. อย่าให้ผู้ป่วยกินอะไรระหว่างชัก หรือหลังชักใหม่ ๆ อาจทำให้ผู้ป่วยสำลักได้

การป้องกัน

โรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic seizures) แม้ว่าจะยังไม่มีวิธีป้องกันไม่ให้เป็นโรคนี้ได้ แต่สามารถป้องกันไม่ให้อาการชักกำเริบได้ ด้วยการกินยารักษาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อ “การดูแลตนเอง”

โรคลมชักชนิดทราบสาเหตุ (symptomatic seizures) อาจป้องกันด้วยการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหรือภาวะที่ทำให้ชัก อาทิ

    ป้องกันการบาดเจ็บที่ศีรษะจากเหตุต่าง ๆ เช่น อุบัติเหตุทางจราจร การตกจากที่สูง เป็นต้น
    ป้องกันการเกิดโรคพยาธิในสมอง เช่น โรคพยาธิตืดหมู ด้วยการไม่กินเนื้อหมูดิบหรือสุก ๆ ดิบ ๆ
    ป้องกันไม่ให้เป็นโรคติดเชื้อที่มีผลต่อสมอง เช่น มาลาเรีย สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น
    ป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ เช่น ผู้ป่วยที่ใช้ยาเบาหวาน พึงระวังไม่ให้ใช้ยาเกินขนาด หรือกินอาหารผิดเวลา หรืออดอาหาร
    หลีกเลี่ยงการดื่มสุราจัด หรือการใช้สารเสพติดชนิดกระตุ้นประสาท

ข้อแนะนำ

1. โรคลมชักมีหลายชนิด นอกจากโรคลมชักแบบเกร็งกระตุกทั้งตัว (ลมบ้าหมู) ซึ่งมีอาการชักร่วมกับหมดสติ และมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายได้แล้ว ยังอาจมีโรคลมชักชนิดอื่น ๆ ที่ไม่มีอาการหมดสติ หรืออาการชักก็ได้ เช่น มีอาการแขนหรือขาชาหรือกระตุกเพียงข้างเดียว หรือมีอาการกระตุกของมุมปาก ใบหน้า นิ้วมือหรือนิ้วเท้า หรืออาจเห็นแสงวาบ ได้กลิ่น รส หรือได้ยินเสียงแปลก ๆ หรือมีอาการแบบเผลอสติ (สูญเสียการรับรู้สิ่งรอบตัว) หรือเหม่อนิ่งชั่วขณะ เป็นต้น หากพบว่ามีอาการชัก หมดสติ หรืออาการแปลก ๆ ดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ

2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุหรือลมบ้าหมู ส่วนใหญ่มีทางรักษาให้หายขาดได้ หรือสามารถใช้ยาควบคุมไม่ให้เกิดการชักได้ แต่ต้องกินยาติดต่อกันนานเป็นปี ๆ บางรายอาจต้องกินยาไปตลอดชีวิต ผู้ป่วยควรไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้านตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

เมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องจนควบคุมโรคได้แล้ว ผู้ป่วยสามารถทำงาน เรียนหนังสือ เล่นกีฬาหรือออกสังคมได้ตามปกติ รวมทั้งสามารถแต่งงานได้

3. ผู้ป่วยควรเปิดเผยให้เพื่อนที่ทำงานหรือที่โรงเรียนทราบถึงโรคที่เป็น เพื่อว่าเมื่อเกิดอาการชักจะได้ไม่ตกใจ และหาทางช่วยเหลือให้ปลอดภัย พ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงควรมีความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของโรคและวิธีช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ควรแสดงความรังเกียจ ควรให้กำลังใจผู้ป่วย และให้เข้าร่วมกิจกรรมในชีวิตประจำวันเช่นคนอื่น ๆ

4. อาการชักอาจมีสาเหตุได้หลากหลาย (ตรวจอาการชัก) แพทย์จะทำการวินิจฉัยแยกแยะให้แน่ชัดก่อนจะสรุปว่าเป็นโรคลมชักชนิดไม่ทราบสาเหตุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบในเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุ อาจเกิดจากความผิดปกติทางสมอง ส่วนในวัยรุ่นหรือวัยทำงานอาจเกิดจากพิษแอลกอฮอล์หรือยาเสพติด