ผู้เขียน หัวข้อ: ข้อมูลสุขภาพ: ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary embolism/PE)  (อ่าน 181 ครั้ง)

siritidaphon

  • Sr. Member
  • ****
  • กระทู้: 485
  • รับจ้างโพสเว็บ เลื่อนประกาศ โปรโมทเว็บไซต์ติดหน้าแรก
    • ดูรายละเอียด
โรคนี้หมายถึงภาวะที่มีสิ่งหลุด (embolus) อุดตันหลอดเลือดแดงในปอด ทำให้เนื้อเยื่อปอดขาดเลือด เกิดอาการหายใจลำบาก อาการมักเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็จะเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตในเวลารวดเร็วได้

ส่วนใหญ่เกิดจากลิ่มเลือดหลุดลอยจากหลอดเลือดดำที่บริเวณขาหรือแขน เข้ามาอุดตันในหลอดเลือดแดงปอด ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนสำคัญของภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด

ส่วนน้อยที่เกิดจากสิ่งหลุดที่ไม่ใช่ลิ่มเลือด*

ในบทนี้จะกล่าวถึงเฉพาะภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงที่เกิดจากลิ่มเลือด

*ส่วนน้อยอาจเป็นสิ่งหลุดในลักษณะอื่น เช่น น้ำคร่ำที่หลุดเข้าไปในหลอดเลือดดำอุ้งเชิงกรานขณะคลอดบุตร, ไขมันที่หลุดจากไขกระดูกเข้าไปในกระแสเลือดเมื่อมีกระดูกหัก, เศษเนื้องอกของอวัยวะต่าง ๆ, ฟองอากาศที่เกิดจากการฉีดยา ให้เลือด หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ

สาเหตุ

เกิดจากมีสิ่งหลุด (embolus) ลอยผ่านหัวใจเข้ามาในหลอดเลือดแดงปอด สิ่งหลุดมักเป็นลิ่มเลือด (thrombus) ที่หลุดลอยมาจากหลอดเลือดดำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลิ่มเลือดที่เกิดขึ้นที่บริเวณขา ส่วนน้อยอาจเป็นลิ่มเลือดที่บริเวณอื่น


อาการ

ขึ้นกับขนาดและจำนวนสิ่งหลุดที่ไปอุดตัน ซึ่งมีผลต่อปริมาณเนื้อปอดที่ตายจากการขาดเลือด ในกรณีสิ่งหลุดมีขนาดเล็กและปริมาณน้อย ก็อาจไม่ทำให้เกิดอาการแสดงใด ๆ ก็ได้

แต่ส่วนใหญ่โรคนี้มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจหอบซึ่งเกิดขึ้นรวดเร็วฉับพลัน บางรายอาจมีอาการแรกเริ่มคือ รู้สึกศีรษะโหวง ๆ เป็นลม หรือชัก เนื่องจากหัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง

ถ้าสิ่งหลุดมีขนาดใหญ่มักทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกแปลบขึ้นฉับพลัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหายใจเข้าลึก ๆ ต่อมาเมื่อมีการตายของเนื้อปอดร่วมด้วย ก็จะมีอาการไอออกเป็นเลือดและอาจมีไข้ร่วมด้วย

ในรายที่มีการอุดตันของหลอดเลือดแดงปอดขนาดใหญ่ (ซึ่งพบได้น้อย) เนื้อปอดจะถูกทำลายเกือบทั้งหมด ผู้ป่วยมักมีอาการหน้าเขียว ตัวเขียว และเสียชีวิตอย่างกะทันหันแบบภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย


ภาวะแทรกซ้อน

ภาวะมีสิ่งหลุดอุดตันในหลอดเลือดปอด ทำให้ปอดและอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น เนื้อปอดตาย (pulmonary infarction), ภาวะมีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, ภาวะความดันปอดสูง (pulmonary hypertension), หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะช็อก, หัวใจหยุดเต้น

ที่สำคัญคือ ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตอย่างกะทันหัน

การวินิจฉัย

แพทย์จะวินิจฉัยเบื้องต้นจากอาการ ประวัติการเจ็บป่วย และการตรวจร่างกาย ซึ่งมักตรวจพบอาการหอบ ชีพจรเต้นเร็ว อาจเต้นไม่เป็นจังหวะ ฟังปอดอาจมีเสียงกรอบแกรบ (crepitation) และอาจตรวจพบอาการของภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือดร่วมด้วย

แพทย์จะทำการวินิจฉัยให้แน่ชัดโดยการตรวจพิเศษ เช่น ตรวจเลือด, เอกซเรย์ปอด, ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, ตรวจดูการไหลเวียนเลือดในปอด (ventilation-perfusion scan, CT angiography), อัลตราซาวนด์ (duplex ultrasonography), ถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า/เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น


การรักษาโดยแพทย์

แพทย์มักจะรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล ถ้าตรวจพบว่าเกิดจากลิ่มเลือดอุดตัน ก็มักจะให้สารกันเลือดเป็นลิ่ม ได้แก่ เฮพาริน (heparin) ในรายที่อยู่ในขั้นอันตรายมาก อาจให้ยาละลายลิ่มเลือด (streptokinase หรือ tPA)

ถ้ามีลิ่มเลือดขนาดใหญ่ รักษาด้วยสารกันเลือดเป็นลิ่ม/ยาละลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล หรือให้ยากลุ่มนี้ไม่ได้ แพทย์จะทำการผ่าตัดเอาลิ่มเลือดออก (pulmonary embolectomy)

ผลการรักษา ถ้ามีอาการรุนแรง (เช่น มีภาวะช็อก, หัวใจหยุดเต้น) หรือได้รับการรักษาล่าช้าไป มีโอกาสเสียชีวิตสูง หรือถ้ารอดชีวิตก็มีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ ส่วนผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและได้รับการรักษาได้ทันการณ์ ก็มีโอกาสทุเลาจากอาการได้ แต่อาจมีอาการกำเริบใหม่ และระยะต่อมาอาจมีภาวะแทรกซ้อนตามมาได้ จำเป็นต้องติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง และต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยาที่รักษา (ที่สำคัญคือภาวะเลือดออกจากสารกันเลือดเป็นลิ่ม)


การดูแลตนเอง

หากสงสัย เช่น มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ใจหวิวใจสั่น เป็นลม ควรปรึกษาแพทย์ทันที

เมื่อตรวจพบว่าเป็นภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด ควรดูแลตนเอง ดังนี้

    ดูแลรักษา กินยา ปฏิบัติตัว และติดตามการรักษาตามที่แพทย์แนะนำ
    ควรระมัดระวังการเกิดอุบัติเหตุหรือบาดแผล
    หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง เพราะอาจมีผลทำให้เกิดปฏิกิริยากับยาที่แพทย์ใช้รักษาอยู่

ควรกลับไปพบแพทย์ก่อนนัด ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้

    มีเลือดออก หรือมีจ้ำเขียวหรือรอยห้อเลือดที่ผิวหนัง
    มีอาการเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ไอเป็นเลือด ใจหวิวใจสั่น หรือลุกนั่งมีอาการหน้ามืดจะเป็นลม หรือแขนหรือขาข้างหนึ่งมีอาการปวดและบวม
    ขาดยาหรือยาหาย
    มีอาการที่สงสัยว่าเป็นผลข้างเคียงจากยาหรือแพ้ยา เช่น มีลมพิษ ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ตาบวม ปากบวม คลื่นไส้ อาเจียน จุดแดงจ้ำเขียว หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ


การป้องกัน

1. ปฏิบัติเช่นเดียวกับภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด เนื่องจากโรคนี้มักเป็นภาวะแทรกซ้อนของภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ซึ่งมีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงแบบเดียวกัน

2. เมื่อตรวจพบภาวะหลอดเลือดดำส่วนลึกมีลิ่มเลือด ควรรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง


ข้อแนะนำ

1. ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดที่มีความรุนแรง มักมีอาการเจ็บหน้าอกและใจหวิวใจสั่น หน้ามืด เป็นลม คล้ายกับ ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย และภาวะเลือดเซาะผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ ซึ่งอาจแยกกันไม่ออก อย่างไรก็ตาม หากมีอาการดังกล่าวควรไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลโดยด่วน

2. ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอดซึ่งเกิดจากสิ่งหลุดที่ไม่ใช่ลิ่มเลือด จะมีอาการและความรุนแรงแบบเดียวกับสิ่งหลุดที่เป็นลิ่มเลือด หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์ด่วนเช่นกัน แพทย์จะให้การรักษาตามชนิดของสิ่งหลุดและความรุนแรงของโรค


ข้อมูลสุขภาพ: ภาวะสิ่งหลุดอุดตันหลอดเลือดแดงปอด (Pulmonary embolism/PE)  อ่านบทความเพิ่มเติมคลิ๊กที่นี่ https://doctorathome.com/expert-scoops