เจาะลึกวิธีเลือกธนาคารเพื่อ รีไฟแนนซ์บ้าน 2568 เมื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำไม่ใช่คำตอบเดียวถึงแม้ว่า การรีไฟแนนซ์บ้าน ในปี 2568 ยังคงเป็นวัตถุประสงค์หลักสำหรับผู้ที่ต้องการลดดอกเบี้ย ลดภาระหนี้ หรือเพิ่มความคล่องตัวทางการเงิน แต่การตัดสินใจเลือกธนาคารสำหรับรีไฟแนนซ์บ้านทุกครั้ง เราควรพิจารณาอะไรบ้าง แค่… "อัตราดอกเบี้ยต่ำ" เพียงอย่างเดียวเพียงพอแล้วหรือไม่ หรือจะมีปัจจัยสำคัญอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อความคุ้มค่าระยะยาวได้อีกไหม วันนี้เราจะพามาเจาะลึกวิธีเลือกธนาคารเพื่อรีไฟแนนซ์บ้านให้คุ้มค่าที่สุดสำหรับปี 2568 กันนะคะ
1. อย่าดูแค่อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น
ส่วนใหญ่แล้วธนาคารจะดึงดูดลูกค้าด้วยการเสนออัตราดอกเบี้ยโปรโมชั่น โดยการเริ่มต้นอัตราดอกเบี้ยต่ำๆ แต่อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ ดอกเบี้ยหลังจากโปรโมชั่นหมด ซึ่งจะมีการปรับสูงขึ้น โดยอาจจะสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้ แต่เราจะมีวิธีตรวจสอบหรือพิจารณาเพิ่มเติมได้ ดังนี้
สิ่งที่ควรทำ :
เปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ย แบบลดต้นลดดอก (Effective Rate) แทนการดูเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเบื้องต้น
ดูอัตราดอกเบี้ยหลังหมดโปรโมชั่น เช่น หลังจากดอกเบี้ยโปรโมชั่น 3 ปีแรก อัตราดอกเบี้ยจะปรับเป็นเท่าไหร่ อัตราดอกเบี้ย MRR หรือ MLR สูงหรือต่ำ เมื่อคำนวณแล้วต้องเสียดอกเบี้ยเท่าไหร่ เป็นต้น
2. ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายต่างๆ
โดยปกติแล้ว การรีไฟแนนซ์บ้านทุกครั้งจะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ เกิดขึ้นเสมอ เว้นแต่ว่าธนาคารจะจัดโปรโมชั่น ฟรี หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการ ซึ่งข้อมูลส่วนนี้เราควรตรวจสอบให้ดี เพื่อที่จะได้มีการเตรียมเงินสำหรับค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไว้ล่วงหน้า ซึ่งค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมที่อาจเกิดขึ้น เช่น
ค่าจดจำนอง ประมาณ 1% ของวงเงินกู้
ค่าประเมินทรัพย์สิน ประมาณ 2,000 - 5,000 บาท
ค่าอากรสแตมป์
ค่าประกันชีวิต (MRTA หรือ MLTA)
สิ่งที่ควรทำ :
สอบถามธนาคารเกี่ยวกับ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง และเปรียบเทียบว่าธนาคารใดให้ข้อเสนอฟรี หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมบางรายการได้
คำนวณรวมค่าใช้จ่ายเพื่อหาจุดคุ้มทุนจากการรีไฟแนนซ์ (ดูรายละเอียดการคำนวณเพิ่มเติม ที่นี่)
*ควรเลือกธนาคารที่ทำให้จุดคืนทุนเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด
3. เงื่อนไขในการกู้มีความยืดหยุ่น
การขอสินเชื่อบ้าน หรือสินเชื่อรีไฟแนนซ์บ้าน หากเงื่อนไขต่างๆ มีความยืดหยุ่น ก็จะช่วยให้เราสามารถบริหารจัดการหนี้ได้ง่ายขึ้น ช่วยให้เราประหยัดดอกเบี้ย และปิดหนี้ได้เร็วขึ้น เช่น การชำระเงินต้นเพิ่มเติม, การปิดบัญชีก่อนกำหนด เป็นต้น
สิ่งที่ควรทำ :
เรื่องค่าปรับปิดบัญชีก่อนกำหนด (Prepayment Fee) เราควรตรวจสอบว่าธนาคารจะมีการเรียกเก็บหรือไม่ และต้องรอครบกำหนดระยะเวลานานเท่าไร
เรื่องความยืดหยุ่นในการชำระหนี้ ควรตรวจสอบว่าเราสามารถชำระเงินต้นเพิ่มเติมได้หรือไม่ หรือจะมีค่าธรรมเนียมใดๆ เพิ่มเติมหรือเปล่า
4. โปรโมชั่น และข้อเสนอพิเศษ
เรื่องโปรโมชั่น และข้อเสนอพิเศษ เป็นเรื่องหลักๆ ที่ทุกคนมักเลือกพิจารณาเปรียบเทียบกันอยู่แล้ว แต่หากมีตัวเลือกหลายๆ ธนาคารที่แข่งกันด้วยโปรโมชั่นต่างๆ คล้ายๆ กัน เช่น ดอกเบี้ยคงที่ต่ำในช่วง 3-5 ปีแรก, ฟรีค่าจดจำนองหรือค่าประเมินทรัพย์สิน, สิทธิประโยชน์เมื่อทำประกันชีวิตร่วมกับสินเชื่อ (MRTA/MLTA) เราจะมีวิธีการเปรียบเทียบข้อเสนออื่นๆ อย่างไร
สิ่งที่ควรทำ :
ควรตรวจสอบโปรโมชั่นจากหลายธนาคาร และเปรียบเทียบสิทธิประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การคืนเงิน (Cashback) หรือบัตรกำนัล เป็นต้น
เราสามารถใช้แพลตฟอร์มเปรียบเทียบออนไลน์เพื่อหาข้อเสนอที่เหมาะสมที่สุด
5. เลือกธนาคารที่สอดคล้องกับความต้องการ
ในการตัดสินใจเลือกธนาคารที่เหมาะสมในการรีไฟแนนซ์บ้าน นอกจากเรื่องปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว เรายังควรพิจารณาจากเป้าหมายส่วนตัวของเราด้วย เช่น
ต้องการลดดอกเบี้ยระยะสั้น ควรเลือกธนาคารที่มีดอกเบี้ยคงที่ต่ำในช่วง 3-5 ปีแรก
ต้องการลดค่างวดรายเดือน ควรมองหาธนาคารที่ให้ระยะเวลาผ่อนชำระยาวขึ้น
ต้องการกู้เพิ่ม (Cash-Out Refinance) ควรเลือกธนาคารที่ให้วงเงินกู้สูง และเงื่อนไขยืดหยุ่น
ตัวอย่างการเปรียบเทียบธนาคารรีไฟแนนซ์
ปัจจัยที่ใช้เปรียบเทียบ ธนาคาร A ธนาคาร B ธนาคาร C
อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3 ปี 3.25% 3.50% 3.30%
อัตราดอกเบี้ยลอยตัวหลังปีที่ 3 MRR - 2.00% MRR - 1.75% MRR - 2.25%
ค่าจดจำนอง ฟรี 1% ฟรี
ค่าประเมินทรัพย์สิน 3,000 บาท 2,000 บาท ฟรี
ค่าประกัน MRTA ไม่บังคับ บังคับ (30,000 บาท) บังคับ (25,000 บาท)
จากตัวอย่างข้างต้น หากเราต้องการลดค่าใช้จ่ายเริ่มต้น เราควรเลือกธนาคารที่ฟรีค่าจดจำนอง และค่าประเมินทรัพย์สิน เช่น ธนาคาร A หรือ C อาจเหมาะสมกว่า เป็นต้น
สรุปแล้ว การตัดสินใจ รีไฟแนนซ์บ้าน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียว แต่เราควรพิจารณาปัจจัยอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย เช่น ค่าใช้จ่ายทั้งหมด เงื่อนไขการกู้ ความยืดหยุ่นในการชำระหนี้ รวมถึงควรเปรียบเทียบข้อเสนอจากหลายๆ ธนาคาร และการวางแผนอย่างรอบคอบ รวมถึงการกำจัดจุดอ่อนก่อนรีไฟแนนซ์บ้าน จะช่วยให้เราสามารถเลือกธนาคารที่จะรีไฟแนนซ์ไปได้เหมาะสม และคุ้มค่าที่สุดในระยะยาวนะคะ